ปลายด้ามขวาน เมือง ยะลา

ประเทศไทย

คำว่า “ยะลา” มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า “ยะลอ” ซึ่งแปลว่า “แห” ตามประวัติตั้งแต่สมัย สุโขทัยถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสิทร์นั้น “เมืองยะลา” เป็นส่วนหนึ่งของเมืองมณฑลปัตตานี 

           ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าให้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล โดยออกประกาศข้อบังคับสำหรับการปกครอง ๗ หัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ ซึ่งประกอบด้วย เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และเมืองรามัน ในแต่ละเมืองมีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานี และได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน 

“เมืองยะลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน” สำหรับเมืองยะลา ได้มีการโยกย้ายที่ตั้งมาแล้ว ๔ ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ ๑ ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา ครั้งที่ ๒ ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลท่าสาป (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๓ ได้ย้ายไปตั้งที่เมืองสะเตง (ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๔ ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลบ้านนิบง ในสมัยอำมาตย์โทพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คนที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๕๘) ได้วางผังเมืองด้วยการหาจุดศูนย์กลางใจเมือง โดยการปักหลักไว้และเอาก้อนหินวางไว้เป็นเครื่องหมาย เรียกว่า “กิโลศูนย์” และลากเส้นวงกลมเป็นชั้น ๆ มีถนนรองรับเป็นตาข่ายลักษณะใยแมงมุมที่สวยงามที่สุดของประเทศไทยและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดความสะอาด ๓ ปีซ้อน (พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๓๐) และในปี ๒๕๔๐ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกยกให้เป็น ๑ ใน ๕ เมืองของประเทศไทยในโครงการเมืองน่าอยู่ทั่วโลก 

คำขวัญประจำจังหวัดยะลา “ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” ตราประจำจังหวัดยะลา รูปเหมืองแร่ดีบุก

            หมายถึง พื้นที่ของจังหวัดยะลาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก และอาชีพหลักของ ประชาชนในอดีต คือ การทำเหมืองแร่ดีบุก ธงประจำจังหวัดยะลา แถบบนสีเขียว แถบล่างสีขาว สัตว์ประจำจังหวัดยะลา ช้างเผือก ต้นไม้ประจำจังหวัดยะลา ต้นศรียะลา ดอกไม้ประจำจังหวัดยะลา ดอกพิกุล 

วิสัยทัศน์จังหวัดยะลา ยะลาเมืองน่าอยู่ คู่สันติสุข ขนาด ที่ตั้ง อาณาเขตติดต่อ จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๕ – ๗ องศาเหนือและ เส้นแวงที่ ๑๐๐ – ๑๐๒ องศาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางรถไฟสายใต้ ๑,๐๓๙ กิโลเมตร และตามถนนเพชรเกษมสายเก่า ๑,๓๙๕ กิโลเมตร หรือสายใหม่ ๑,๐๘๔ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๔,๕๒๑ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒.๘ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๖.๔ ของพื้นที่ภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดสงขลา และปัตตานี ทิศใต้ ติดต่อกับ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดนราธิวาส และรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดสงขลา และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ที่ตั้งและอาณาเขต

Share
Tagged