เที่ยวชมวัดวังคำ วิจิตรงามล้ำ ศิลปะชาวลาว ที่เที่ยวแห่งใหม่ ของชาวกาฬสินธุ์

วัดไทย

“เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย
ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน
มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี” 

นี่คือคำขวัญจังหวัด“กาฬสินธุ์

สถาปัตยกรรมอันสวยงามของวัดวังคำ บ้านนาวี อ.เขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์​เป็นอย่างมาก ด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ได้เห็นวัดเชียงทองใน สปป.ลาว เมืองมรดกโลก และนี้ก็เป็นที่มาของสถาปัตยกรรมที่เราได้เห็นอยู่ตรงหน้า

วัดวังคำ ตั้งอยู่ที่ บ.นาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ มีข้อความตามเอกสารประวัติวัดวังคำ พอสังเขป ระบุไว้สรุปความว่า…วัดวังคำปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 8 ไร่ เริ่มก่อสร้าง(อย่างเป็นทางการ)ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 โดยคณะชาวบ้านนาวีและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนามีนามว่า “วัดวังคำ” สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเขตวิสุงคามสีมาแก่วัดวังคำ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545

วัดชื่อดังที่เป็นที่เที่ยวสุดอันซีนในเมืองกาฬสินธุ์ ที่เต็มไปด้วยความวิจิตรตระการตา  ของศิลปะการก่อสร้างที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก วัดเชียงทอง มรดกโลกในเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ตัววัดสร้างในปี 2539 เป็นงานศิลปะการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง อาคารเป็นหลังคามุข 3 ชั้น มีฉัตรตรงกลาง 9 ยอด หลังคาโค้งยาวสวยงาม โดยไม่ว่าจะมองที่มุมไหนของวัดก็สวยสง่างาม   เมื่อเดินมาด้านหลังก็มีไฮไลท์สำคัญอย่าง   รูปต้นโพธิ์ลวดลายสวย ๆ ประดับด้วยกระจกสี สะท้อนกับแสงไฟในยามค่ำคืนอย่างสวยงาม

ส่วนที่หลังโบสถ์ช่วงกลางทำเป็นลวดลายประดับกระจกสีหรือลายดอกดวงเช่นเดียวกับที่วัดเชียงคำ แต่ต่างกันตรงรายละเอียดของลาย โดยที่วัดเชียงทองทำเป็นรูปต้นทอง (ต้นงิ้ว) ส่วนวัดวังคำทำเป็นต้นโพธิ์ธรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ภายในบริเวณโบสถ์วัดวังคำยังมีความแตกต่างคือมีพระระเบียงล้อมทั้ง 4 ด้าน มีรูปปั้นช้างประดับอยู่ด้างหลัง ม้าประดับอยู่ด้านข้างเป็นต้น มีการปลูกต้นลั่นทมหรือลีลาวดีหรือต้นจำปาของลาวประดับไว้เป็นจุดๆ

นอกจากโบสถ์อันงดงามวิจิตรแล้ว วัดวังคำยังมีงานพุทธศิลป์อิทธิพลศิลปะล้านช้างปรากฏให้เห็นในหลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์พระธาตุสีทองอร่ามที่ได้รับอิทธิพลมาจากธาตุหลวง เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว (พระธาตุองค์นี้ห้ามผู้หญิงขึ้นไปยังองค์พระธาตุ), ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่ภายในประดิษฐาน “หลวงปู่วังคำ” พระประธานศิลปะล้านช้างอันงดงาม หากสังเกตดีๆ จะเห็นพระพักตร์ของหลวงปู่วังคำอมยิ้มเล็กน้อย ดูขรึมขลังงดงามเปี่ยมศรัทธา

ภายในศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่เจ้าอาวาสออกแบบให้สร้างแบบดั้งเดิมตามที่ท่านเคยเห็นเมื่อครั้งเป็นเด็ก (บางข้อมูลบอกว่าสร้างตามแบบวัดศรีนวล อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี) นอกจากนี้ภายในวัดวังคำก็ยังมีสิ่งน่าสนใจให้ชื่นชม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะกันอีกหลายจุด ซึ่งพระครูสังวรฯ ท่านเจ้าอาวาสฝากบอกกับผมว่า สำหรับญาติโยมที่มาเที่ยววัด ต้องสำรวมกายวาจา เคารพกฎของวัด บางจุดห้ามผู้หญิงขึ้นก็อย่าขึ้น และอย่านุ่งน้อยห่มน้อยมาเข้าวัด เพราะมันผิดสถานที่ผิดกาลเทศะ

Share
Tagged